ไมโครซอฟท์ ประกาศแผนยกระดับทักษะด้าน AI ให้บุคลากร 2.5 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2568

ความมุ่งมั่นครั้งสำคัญเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความพร้อมด้าน AI
สนับสนุนแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล
2025

จาการ์ตา 30 เมษายน 2567 – ไมโครซอฟท์ประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้บุคลากรจำนวน 2.5 ล้านคนในประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ภายในปี 2568 ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับภาครัฐ องค์กรไม่แสวงผลกำไร องค์กรธุรกิจ รวมถึงชุมชนต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

ความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ สอดคล้องกับแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025) ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีความพร้อมด้าน AI ในภูมิภาคนี้ ตลอดจนต่อยอดเป้าหมายสำคัญของไมโครซอฟท์ในการส่งเสริมให้กับบุคคล องค์กร และชุมชนในประเทศอาเซียน สามารถนำศักยภาพของ AI มาใช้ขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า “เราชื่นชมในความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ที่จะยกระดับทักษะด้าน AI ให้กับเยาวชนในอาเซียน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่สอดคล้องกับแผนแม่บทดิจิทัลของอาเซียน 2025 การส่งเสริมอีโคซิสเท็มของบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของทั้งภูมิภาค”

พันธกิจในการส่งเสริมทักษะด้าน AI ของไมโครซอฟท์มุ่งเน้นใน 4 ด้าน ได้แก่ สร้างบุคลากรที่พร้อมรองรับ AI โดยครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่ม ลดความเหลื่อมล้ำด้านทักษะ เพิ่มปริมาณบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเสริมทักษะ AI ของนักพัฒนา ตลอดจนเสริมศักยภาพให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคมได้อย่างสูงสุด

โครงการนี้ยังต่อยอดการดำเนินงานมาอย่างยาวนานของไมโครซอฟท์ ในการลดความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัลในประเทศอาเซียน โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลผ่านโครงการ Skills4Jobs แล้วกว่า 1.7 ล้านคน

แอนเดรีย เดลลา แมทเทีย ประธาน ไมโครซอฟท์ อาเซียน กล่าวว่า “แนวคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นประเด็นที่โดดเด่นและพูดถึงอย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน ไมโครซอฟท์จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนพัฒนาทักษะด้าน AI ซึ่งนับเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งยังได้รับผลประโยชน์ที่ตามมาร่วมกัน ด้วยบุคลากรคุณภาพเหล่านี้ ภูมิภาคอาเซียนก็จะมีบุคลากรที่มีทักษะสูง รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และยกระดับให้ทั้งภูมิภาคสามารถแข่งขันทางเทคโนโลยีในระดับโลกได้”

สร้างบุคลากรที่พร้อมรองรับ AI และครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

โลกยุคดิจิทัลมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะ ดังนั้น สถาบันอาชีวศึกษานับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติให้สอดคล้องกับความต้องการและบทบาทของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ไมโครซอฟท์เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคอาชีวศึกษาทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยร่วมกับมูลนิธิอาเซียนและกระทรวงศึกษาธิการในประเทศสมาชิก 10 ประเทศเพื่อฝึกอบรมทักษะ AI ซึ่งคาดว่าจะมีนักเรียนอาชีวศึกษาราว 644,000 คนได้รับประโยชน์

ไมโครซอฟท์จะร่วมกับมูลนิธิอาเซียนในการสอนและฝึกอบรมทักษะ AI สายอาชีพให้แก่นักเรียน ผ่านโครงการ AI TEACH for Indonesia และ AI TEACH Malaysia นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังให้ความรู้และฝึกอบรม ด้าน AI ข้อมูล และความปลอดภัย แก่เยาวชนและผู้ว่างงานที่ด้อยโอกาสจำนวน 100,000 คน ผ่านความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่กับ Kartu Prakerja ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษานอกระบบเพื่อพัฒนาทักษะที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย

สำหรับในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน และสถาบันการอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยี เปิดตัวโครงการพัฒนาทักษะ AI เพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (AI Skills for the AI-enabled Tourism Industry) เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวน 100,000 รายที่เกี่ยวข้องอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองรองทั่วทั้ง 5 ภูมิภาคของประเทศไทย

ในประเทศฟิลิปปินส์ ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นพัฒนาทักษะด้าน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้แก่นักเรียน 1 ล้านคน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลายในสถาบันการศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเด็กและเยาวชนมีความพร้อมสำหรับอาชีพและการจ้างงานในอนาคต นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์จะสานต่อความร่วมมือกับ Technical Education and Skills Development Authority (TESDA) โดยลงทุนในโครงการใหม่เพื่อฝึกอบรมทักษะด้าน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้นักเรียนหญิงจำนวน 100,000 คนในสถาบันการศึกษาที่สังกัดกระทรวงดังกล่าว เพื่อส่งเสริมความหลากหลายของบุคลากรให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของประเทศ

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์จะขยายความร่วมมือกับ United Nations Development Programme (UNDP) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในอินโดนีเซียไปยังมาเลเซียและเวียดนาม เพื่อขยายโอกาสให้เยาวชน 570,000 คนจากชุมชนที่ด้อยโอกาส ในการจ้างงานและพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเปิดให้เข้าถึงหลักสูตรฝึกอบรมทักษะการใช้งาน AI

ปั้นบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ลดความเหลื่อมล้ำและเติมเต็มความต้องการแรงงาน

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีภาวะขาดแคลนบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มากที่สุดในโลก โดยในปี 2566 มีการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ถึง 2.7 ล้านคน ขณะที่ความสามารถในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ด้วย AI เป็นที่สิ่งจำเป็นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ยุคใหม่

ภายใต้โครงการส่งเสริมทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก ไมโครซอฟท์ร่วมกับองค์กรไม่แสวงผลกำไร ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อมอบทางเลือกด้านสายอาชีพให้กับเยาวชนที่ด้อยโอกาส ในการก้าวเข้าสู่สายอาชีพในอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์

โครงการ Ready4AI&Security ของไมโครซอฟท์ จะฝึกอบรมเยาวชนจำนวน 15,000 คนในอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพื่อมอบโอกาสให้ผู้หญิงในการก้าวเข้าสู่สายอาชีพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเปิดให้เข้าถึงหลักสูตรฝึกอบรมและประกาศนียบัตรด้านความปลอดภัยของไมโครซอฟท์

เสริมทักษะ AI ให้นักพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรม

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมุ่งสนับสนุนนักพัฒนากว่า 7 ล้านคนทั่วภูมิภาคอาเซียน ผ่านโครงการ Asia AI Odyssey ซึ่งรวบรวมกิจกรรมและหลักสูตรด้านทักษะ AI สำหรับการใช้งานจริง ติดอาวุธให้นักพัฒนาสามารถสร้างสรรค์แอปพลิเคชันที่โดดเด่นและแตกต่าง���้วยพลังจาก AI ทั้งนี้ แคมเปญ Asia AI Odyssey ครอบคลุมประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย มีเป้าหมายที่จะเสริมทักษะด้าน AI ให้กับนักพัฒนาในอาเซียนรวม 30,000 ราย พร้อมปูทางสู่การขยา��บทบาทของ AI ในเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต

ยกระดับองค์กรไม่แสวงผลกำไร ให้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่าในสังคม

ในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ไมโครซอฟท์จะจัดการประชุมผู้นำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Nonprofit Leaders’ Summit ขึ้น เพื่อแบ่งปันทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้าน AI และเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรรวม 1,500 คน

นอกจากนี้ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในภูมิภาคอาเซียนยังจะมีโอกาสได้เข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้จากไมโครซอฟท์ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Resources Hub หรือ LinkedIn for Nonprofits Resource Hub เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสังคมทุกภาคส่วน พร้อมร่วมขับเคลื่อนกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค AI ไปพร้อมกัน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางเยือนประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนของนายสัตยา นาเดลลา และแนวทางของไมโครซอฟท์ในการยกระดับองค์กรทั่วอาเซียนด้วย AI สามารถค้นหารายละเอียดได้ที่ https://news.microsoft.com/thailand-visit-2024/